ระยอง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้ชื่อว่าครบครัน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ติดอันดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังมีรากวัฒนธรรมที่เก่าแก่ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แต่วันนี้ ระยอง กำลังถูกท้าทายในฐานะจังหวัดที่อยู่ในแผนการพัฒนาของชาติที่ออกแบบมาให้เพื่อเป็นต้นแบบความสำเร็จของ “สมาร์ทซิตี้” ในทุกด้าน แต่ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองนี้ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร? นี่เป็นการตั้งสมมุติฐานขั้นต้นและเป็นอีกหนึ่งจุดประสงค์ที่ก่อให้เกิด สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย (RILA) จ.ระยอง ขึ้น

นอกจากนั้น สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จ.ระยอง ยังจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายของการที่ จังหวัดระยอง กำลังก้าวไปสู่จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาคนให้เท่าทันการพัฒนาเมืองตามแนวทางของ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ โดยไม่ละทิ้งรากฐานอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นระยองให้คงไว้อย่างเข้มแข็งและมีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับการเป็น สมาร์ทซิตี้ ในอนาคต


สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย กับการพัฒนาบนทางสายกลางสู่ความเป็น “ระยองแท้ๆ”

“ระยองแท้ๆ อยู่ตรงไหน?” นี่เป็นคำถามตั้งต้นจากปากของ ปิยะ ปิตุเดชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และประธานกรรมการสถาบัน RILA เพื่อให้มุมมองต่อไปในฐานะหนึ่งเสียงของคนระยอง ที่ตอบโต้กับอนาคตที่ท้าทาย

ปิยะ ปิตุเดชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และประธานกรรมการสถาบัน RILA

“เพราะระยองได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในจังหวัดในเขตพื้นที่ EEC จำเป็นต้องปรับตัวในทุกด้านเพื่อรับกับการพัฒนาเมืองที่จะเข้ามา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามานั้นก็ต้องไม่กระทบกับชาวระยองที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่เราก็ต้องรักษาให้คงอยู่ต่อไปด้วย นี่เป็นความท้าทายอย่างมากว่าเราจะวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร”

ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

ด้าน ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ยอมรับว่า “เมื่อมีการพัฒนา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเปิดรับนวัตกรรม เทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆเข้ามาในพื้นที่ ทำให้วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชาวระยองได้รับผลกระทบและเปลี่ยนไปเยอะ ตรงนี้เป็นความท้าทายว่าเราจะตั้งรับอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร”

“แต่ที่เราอดเป็นห่วงไม่ได้ และตั้งคำถามขึ้นเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเข้ามา คือ ใครจะเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนในพื้นที่ที่อยู่เดิมจะเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐเดินหน้าส่งเสริมได้หรือไม่” สมศักดิ์ พะเนียงทอง ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นอีกคนหนึ่งที่ตั้งคำถามเพื่อหวังว่าจะนำไปสู่การวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรัดกุม

สมศักดิ์ พะเนียงทอง ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

และหนึ่งในคำตอบตั้งต้นที่ได้จากการระดมสมองเพื่อวางแผนพัฒนาเมืองระยองนี้ คือ การพัฒนาเมืองระยอง ต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคน สร้างความเข้าใจ ยอมรับในความต่าง นำไปสู่ความเจริญที่ยั่งยืน โดยคนระยองจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติ


มิติท้องถิ่น กับความเป็นระยอง ที่ต้องคงอยู่คู่การพัฒนา

ดังที่เกริ่นมาว่าการพัฒนาเมืองระยองนั้น ตั้งอยู่บนฐานที่หนักแน่นว่าจะต้องไม่ละทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรมที่สื่อสารถึงความเป็นคนระยอง ด้วยเหตุนี้ อธิวัฒน์ คุณาเดชดี ผู้ก่อตั้งศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC) ได้ถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนาเมืองระยองที่วางเรื่องการรักษาวัฒนธรรมอันดีเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจนี้ว่า “เราวางโปรเจกต์ RCDC ไว้อยู่บนหลักการสร้าง Green Smart city และศึกษาวิธีคิดของคนตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผสมผสานกันไปด้วยเพื่อมาวางรากฐานแห่งการพัฒนาอนาคต”

ส่วน ภูษิต ไชยฉ่ำ กรรมการผู้จัดการบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด ได้มาให้ความเห็นในฐานะนักธุรกิจที่อยู่ในแวดวงของการพัฒนาเมืองว่า “ผมอยากเห็นภาพเมืองแห่งการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเราอยากเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับคนระยองได้เข้าถึงโอกาสนี้แบบง่ายขึ้น ซึ่งควรมีมาสเตอร์แพลน (Master plan) เพื่อเชื่อมศักยภาพของในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน”

นอกจากนั้น ยังมีเสียงจากคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้นำในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในแต่ละด้าน ที่ส่งเสียงมาย้ำว่า การพัฒนาเมืองระยอง ขออย่าละทิ้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ในแบบที่ควรจะเป็น

“ป่าชายเลนเป็นแหล่งดูดซับทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ เราต้องฟื้นฟู ด้วยการพาลูกหลานมาเรียนรู้ในพื้นที่เพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ระบบนิเวศ”

“ระยอง มีหนังใหญ่ซึ่งเป็นมหรสพเก่าแก่ โดยเฉพาะที่วัดบ้านดอน ซึ่งได้จัดทำพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน ที่ประกอบไปด้วยตัวหนังหลายตัวที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี นี่เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และทุกคนต้องรู้จักระยองในมุมนี้ด้วย”

“เราตั้งใจจะอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม ระบบนิเวศ ธรรมชาติต่างๆ ของชุมชนตลาดบ้านเก่าริมน้ำประแสไว้ เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้มาซึมซับ เรียนรู้”


สร้างสมดุล พัฒนาบุคลากรแห่งอนาคตร่วมพัฒนาสมาร์ทซิตี้

รฎาศิริ ศิริคช ประธานกลุ่มพ่อแม่ระยองพันธุ์ใหม่ ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อสร้างบุคลากรพันธุ์ใหม่มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระยองว่า

“เด็กระยองของเราอยู่ท่ามกลางความแตกต่างสองขั้ว คือ การเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งในอีกด้านก็ยังคงอัตลักษณ์รากเหง้าของชาวระยองจริงๆที่ยึดโยงอยู่กับการค้าขาย การประมง เกษตรกรรม นี่เป็นความท้าทายและเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องร่วมกันคิดและร่วมกันทำ ว่าทำอย่างไรจึงสร้างความสมดุล สร้าง Balance ให้เกิดขึ้นได้”

ขณะเดียวกัน เนื่องจาก ระยอง เป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย ทั้งพืชผัก ผลไม้ ที่สมบูรณ์แบบ เกษตรกรชาวระยองจึงต้องปรับตัวไปในทิศทางการสร้างนวัตกรรมธุรกิจอาหารครบวงจร หรือ Smart Plant ที่จะขับเคลื่อนให้ระยองมีความเข้มแข็งทางการเกษตรอย่างแท้จริง

“แม้จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นมากเท่าไรก็ตามที่จะผลักดันมาสู่การพัฒนาเมืองระยอง ก็จะไม่สำคัญเท่ากับความร่วมมือร่วมใจกันของคนระยองกับทิศทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายด้วยการทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน โดยจังหวัดระยองจะต้องเดินไปบนทิศทางเมืองแห่งการเรียนรู้ที่จะทำให้ทุกคนก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้” สาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดระยอง กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาเมืองระยองที่เป็นหัวใจสำคัญ พร้อมกล่าวเสริมนำสู่จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง สถาบัน RILA ว่า

“ด้วยเป้าประสงค์ในการพัฒนาเมืองระยองที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เราต้องมีศูนย์กลางที่ทุกภาคส่วนของชาวระยองมีความเชื่อมั่น เชื่อถือ แล้วนำข้อเสนอ มุมมองมาเรียงร้อย นำสู่การก่อตั้ง สถาบัน RILA สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย เราตั้งเป้าว่า สถาบันนี้จะเป็นต้นแบบให้ทุกจังหวัดทั่วไทย ลุกขึ้นมาวางแผนการพัฒนาจังหวัดของตนให้เป็น “จังหวัดที่จัดการตนเอง” ได้ อะไรที่ต้องงเปลี่ยน ต้องปรับ หรือต้องรักษา ก็ต้องมาระดมความคิด ระดมสมองกันเพื่อปรับเปลี่ยนไปในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับชาวระยองที่สุด”


เปิดเป้าหมาย สถาบัน RILA สร้างระยองสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้ของคนทุกวัย”

“เป้าหมายของ RILA คือการสร้างระยองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้คนระยองทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย” นี่คือเป้าหมายที่สถาบัน RILA ตั้งไว้อย่างชัดเจน

เพราะเศรษฐกิจระยองเติบโตก้าวกระโดด ดังนั้น คนระยองต้องเติบโตให้เท่าทันเมือง พัฒนาคนให้เท่าทันการพัฒนาเมือง ร่วมกันสร้างระยองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ด้วยระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ สร้างคุณลักษณ์ของคนระยองยุคใหม่

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ โดยทาง RILA รับฟังความเห็นจากคนระยองทุกวัยจากหลากหลายอาชีพ และพื้นที่ เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้ มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนระยองมากที่สุดและจะดำเนินงานรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายช่องทาง

และพื้นที่เรียนรู้ในระยะนำร่องประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆที่มีอยู่ในจังหวัดระยอง ซึ่งจะนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การจัดการทรัพยากรทะเล ป่าชายเลน และประมง ทักษะศตวรรษที่ 21 อาชีพอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์ เกษตรสมัยใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต ชุมชน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และขอบเขตเทศบาล

เป้าหมายสำคัญต่อมา คือ การทำให้ ระยอง มุ่งสู่มาตรฐานเมืองแห่งการเรียนรู้ โดย สถาบัน RILA เลือกเดินตามแนวทาง Guideline for building learning city 2015 ขององค์การ UNESCO ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ

ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • พัฒนาปัจเจกและความเข้มแข็งทางสังคม

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

  • การพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลักการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้

  • การเรียนรู้ทุกกลุ่มทุกวัยจากขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา

  • ฟื้นฟูการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน

  • การเรียนรู้ในแหล่งงาน

  • เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่

  • คุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้

  • วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เงื่อนไขพื้นฐานเมืองแห่งการเรียนรู้

  • เจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง

  • การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

  • การระดมทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน

โดยพันธมิตรของสถาบัน RILA ที่พร้อมมาร่วมสร้าง เมืองระยอง ด้วยกัน มีทั้ง

  • อบจ.ระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบจ.ระยอง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง เทศบาลตำบลปากน้ำประแสร์

  • ชุมชนและภาคประชาสังคม เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัดระยอง ศูนย์พัฒนาข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองระยอง มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาระยอง สมาคมเพื่อนชุมชน และกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน

  • สถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระยอง

  • ภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าจังหวัดระยอง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดระยอง บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด และ บริษัท บริหารจัดการขยะจังหวัดระยอง จำกัด

หากภารกิจที่กำหนดไว้ของ สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย (RILA) สามารถเกิดขึ้นได้จริง ก็นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ จังหวัดระยอง จะได้ก้าวสู่การเป็นต้นแบบของ เมืองแห่งการเรียนรู้ ในพื้นที่ EEC ซึ่งสามารถเป็นโมเดลความสำเร็จที่จังหวัดอื่นสามารถนำไปต่อยอดได้ต่อไป