สวนพฤกษศาสตร์ระยอง

สวนพฤกษศาสตร์ระยอง เป็นพื้นที่ขุ่มน้ำขนาดใหญ่ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย สภาพป่าและระบบนิเวศของที่นี่แปลกตาหาดูได้ยาก โดยทั่วไป ประกอบด้วย กกหญ้า ป่าเสม็ด และป่าดิบแล้งที่นับได้ว่าเป้นป่าดิบแล้งดั้งเดิมที่สมบูรณ์ มีพรรณไม้ท้องถิ่นภาคตะวันออก พรรณไม้ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์กว่า 400 ชนิด สวนพฤกษศาสตร์ระยองดำเนินงานมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์รวมและแสดงพรรณไม้พื้นที่ชุ่มน้ำและป่าเสม็ด แสดงความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชายหาด ซึ่งเป็นจุดเด่นของพื้นที่และมีเหลือน้อยในสภาพธรรมชาติของภาคตะวันออก ความหลากหลายของสวนพฤกษศาสตร์ระยองทำให้มีกิจกรรมหลายอย่างให้เลือก ทั้งล่องเรื่อง เดินศึกษาธรรมชาติ และปั่นจักรยาน ในพื้นที่กว่า 3000 ไร่

กิจกรรมที่น่าสนใจที่แนะนำ คือการล่องเรือชมพื้นที่ชุ่มน้ำ จากอาคารที่ทำการไปจนถึงป่าเสม็ดขาว ชมบัวสีชมพูบานสะพรั่ง วิถีชีวิตชาวบ้านที่มาหาปลา เก็บไหลบัว ฝักบัว ดูนกน้ำมากมายหลายชนิด จากนั้นเดินศึกษาธรรมชาติในป่าที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทุกกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ตลอดทาง


องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชในแต่ละภูมิภาคของประเทศที่มีความแตกต่างกัน จึงมีนโยบายที่จะจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ประจำแต่ละภูมิภาค อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง สำหรับภาคตะวันออก จังหวัดระยองได้ประสานความร่วมมือกับองค์การฯ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมทำการสำรวจพื้นที่บึงสำนักใหญ่(หนองจำรุง) ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,800 ไร่ ในการนี้ ทางจังหวัดระยอง และประชาชนในท้องถิ่น เห็นชอบให้องค์การฯ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในเบื้องต้น ประมาณ 1,193 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2545

เพื่อพัฒนาจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และให้บริการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมชม เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำและพรรณไม้ท้องถิ่นร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศ ได้รับการดูแล และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมาผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ได้เห็นพ้องกันที่จะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง จึงได้เสนอยกระดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ให้มีความสำคัญในระดับชาติ ตามประกาศคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ซึ่งมีข้อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติที่ชัดเจน